ขบวนการลูกเป็ด “จิตอาสาด่านหน้า” สู้ภัยโควิด

Share Post:

ขบวนการลูกเป็ด “จิตอาสาด่านหน้า” สู้ภัยโควิด

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ต่อสู้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ค่อนข้างมากส่งผลให้เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงสำหรับการปฏิบัติหน้าที่หลายอย่าง จึงได้เกิดโครงการกลุ่มจิตอาสาจากเยาวชน “ขบวนการลูกเป็ด” ซึ่งเป็นฟันเฟือง เป็นพลังเล็ก ๆ ที่เข้ามาช่วยหนุน และเสริมการทำงานของนักรบด่านหน้าและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝ่ายต่าง ๆ ของทางโรงพยาบาล

“ตอนแรกแทบจะไม่มีคนอยากทำจุดลงทะเบียนโควิด-19ที่หนูอยู่ เพราะมันคือความเสี่ยง อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่น้อยด้วยเมื่อเทียบกับผู้ป่วย ตอนนี้ก็ไม่ได้กลัวเหมือนแต่ก่อน เพราะว่าเราได้ทำหน้าที่ที่ช่วยเหลือคน ผู้ป่วยมาหาเรา เราก็เป็นทั้งความสบายใจและความปลอดภัยให้กับคนไข้” ศุภาวัน กาทอง หนึ่งในขบวนการลูกเป็ด

รายการคนค้นฅนได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ “ขบวนการลูกเป็ด จิตอาสาด่านหน้า” กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ กว่า 200 ชีวิตที่ได้มารวมตัวกันเพื่อช่วยบุคลากรด่านหน้าต่อสู้กับสถานการณ์โควิดโดยจะได้รับการจะปลูกฝังการเป็นผู้ให้และการมีหัวใจของการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เจ้าหน้าที่ ลูกเป็ดในโรงพยาบาลมีหน้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ส่วนคัดกรองผู้ป่วย ไปจนถึงการทำงานในห้องแลป ปัจจุบันจุดหลัก ๆ ที่ใช้อัตรากำลังของลูกเป็ดสูงสุดคือจุดให้บริการวัคซีนซึ่งมีหน้าที่เช็คสิทธิ์ลงทะเบียน กรอกข้อมูลในระบบหมอพร้อม ออกบัตรนัดคนไข้ แต่ก่อนจะเน้นงานหน้างานที่จะให้เด็ก ๆ ทำ แต่ตอนนี้เด็ก ๆ ช่วยงานหลังบ้านพวกคีย์เบิก ห้องยา ห้องแลป เพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งเด็กๆเหล่านี้ เป็นกลุ่มพนักงานพาร์ทไทม์ส่วนมากเป็นเด็กมัธยมปลายและช่วงมหาวิทยาลัย ที่ขาดรายได้เสริมในการช่วยเหลือครอบครัวในช่วงโควิด-19  

“ได้ทำงานจริง ใส่ชุดจริง ทำให้รู้ว่าจริง ๆแล้วเจ้าหน้าที่แต่ละแผนกทำอะไรบ้าง หนูพึ่งเรียนจบ ม.6 สายวิทย์ คณิต ซึ่งหลังจากมาทำงานตรงนี้ทำให้เห็นภาพมากขึ้น เริ่มรู้ใจตัวเองว่าอยากเรียนอะไรต่อ” อมรรัตน์ พรมน้ำอ่าง หนึ่งในขบวนการลูกเป็ด

“ตอนนี้ทำงานมาเกือบ1ปีแล้ว ได้ความรู้เยอะมาก ตอนแรกไม่รู้ว่าลูกเป็ดคืออะไร แต่พอเพื่อนอธิบายก็ตัดสินใจมาสมัครเลย เพราะอยากทำงานที่ได้ช่วยเหลือคน จบ ม.6 แล้วอยากเรียนต่อด้านนี้ ชอบด้านนี้เพราะได้ช่วยเหลือคน สังคม ทำแล้วสบายใจ” พิทยพงษ์ พิกุลทอง หนึ่งในขบวนการลูกเป็ด

การทำงานทีมลูกเป็ดนั้นต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะไม่ใช่แค่ตื่นมาทำงานทั่วไป แต่ยังต้องจัดตารางชีวิตของตัวเองทั้งทำงานและเรียนได้ด้วย ในช่วงที่มีการฉีดวัคซีนนอกสถานที่น้องจะต้องมาเตรียมของและขึ้นรถแต่เช้าบางทีไปถึงชลบุรี ต้องออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืดกลับมาดึก และวันรุ่งขึ้นยังต้องกลับมาปฏิบัติงานตามปกติ เด็ก ๆ ก็สามารถจัดตารางชีวิตและมีความรับผิดชอบได้ด้วยตัวเอง ความรับผิดชอบของเด็ก ๆ แต่ละคนก็จะต่างกันไป บางคนทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย หรือบางคนทำงานไปด้วยต้องเตรียมสอบไปด้วย 

นอกจากประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาซื้อได้แล้วค่าตอบแทนของการเป็นอาสาสมัครลูกเป็ดนั้น ทำให้เด็กบางคนฝึกบริหารจัดการเงินตรงนี้ สามารถมีเงินไปเกื้อหนุนครอบครัว จ่ายค่าเทอม รวมทั้งใช้จ่ายส่วนตัวโดยไม่ต้องลำบากครอบครัว ในช่วงโควิดมีหลายครอบครัวที่ต้องขาดรายได้ มีลูกเป็ดหลายคนที่กลายเป็นเสาหลักหาเงินให้กับครอบครัว

“งานนี้นอกจากทำงานได้เงินแล้ว ยังได้บุญอีกด้วยเพราะคนมารับบริการเขามีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเราอยากให้พวกเขาภูมิใจว่า พวกเขาคือหนึ่งในแนวร่วมของนักรบชุดขาวที่ได้ร่วมต่อสู้ในช่วงวิกฤติโควิดของประเทศไทย” คุณอติยา อาวัชณาการ ผู้บริหารด้านความยั่งยืน

อาสาลูกเป็ดที่มีร่วม 200 ชีวิตนั้น การทำงานร่วมกัน หลากหลายเพศ อายุ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เด็ก ๆ หลายคนได้เรียนรู้วิธีทำงาน รวมถึงวิธีใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น สิ่งแรกเลยคือทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ลูกเป็ดด้วยกัน การทำงานไม่ได้ราบรื่นไปหมดเพราะแต่ละคนมีที่ไปที่มาไม่เหมือนกัน ดังนั้นเด็ก ๆ ต้องเรียนรู้จะทำงานและอยู่ด้วยกันให้ได้ ต่อมาคือการทำงานร่วมกับวิชาชีพที่ทำงานอย่างใกล้ชิด ช่วงอายุที่ห่างกัน เด็กๆ ต้องรู้จักปรับตัว และการทำงานภายใต้ความกดดันกับผู้รับบริการ บางครั้งหน้างานมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวน เด็ก ๆ มีหน้าที่ประสานตรงกลางระหว่างทีมของพวกเขากับผู้รับบริการที่มีความกดดันทั้งสองฝ่าย เด็ก ๆ ก็สามารถปรับตัว และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากพี่ ๆ ซึ่งตรงนี้เขาสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

“การทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ กล้าคิดกล้าแสดงออก ทำให้เราได้เห็นโอกาสจากไอเดียของเด็ก ๆ น้องเองก็ได้ฝึกการคิด วางแผน ภาวะผู้นำ ซึ่งเราได้เห็นความสามารถของน้อง ๆ แต่ละคน ในอนาคตก็สามารถเชิญชวนน้องมาทำงาน องค์กรจะได้มีคนเก่ง ๆ คนรุ่นใหม่ เข้ามาสานต่อ” วิจิตรา สีใส หัวหน้าแผนก OPD

ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์หรือห้องแลป LAB เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่เท่านั้นถึงสามารถเข้าทำงานได้ แต่ทางโรงพยาบาลก็ให้โอกาสลูกเป็ดบางคนเข้ามาเป็นผู้ช่วย ได้ฝึกการทำงานจริง ภายใต้การดูแลของวิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ ณ ปัจจุบันเป็นวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาด ในช่วงโควิด-19  นั้นถือว่าขาดแคลนเป็นอย่างมาก สมัยก่อนโรงพยาบาลให้นักเทคนิคการแพทย์ในการตรวจผลส่งผลให้กับคนไข้ ซึ่งงานตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาชีพก็สามารถทำได้ ดังนั้นการมีอาสาลูกเป็ดมาช่วยนั้นจึงสามารถแบ่งเบาภาระของนักเทคนิคไปได้เยอะมาก รวมถึงงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานโควิดด้วย เจ้าหน้าที่วิชาชีพจะฝึกและหาความชำนาญของเด็ก ๆ ก่อน หากน้องคนไหนสามารถทำงานที่เหมาะ หรือถนัดได้จะเข้าไปทำงานในจุด นั้นภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ 

“การมีน้อง ๆ เข้ามาเหมือนได้ผู้ช่วย สามารถช่วยงานได้เยอะมาก เราสามารถทำงานของตนเองได้เต็มที่มากขึ้น” ไพบูลย์ ภูทอง หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ 

ประสบการณ์ ค่าตอบแทน การเรียนรู้ที่จะทำงานกับผู้อื่น นั้นเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ลูกเป็ดจะได้รับแต่สิ่งที่พริ้นซ์อยากมอบให้คือคุณค่าของทำงาน งานตรงนี้อาจจะมองว่าเป็นแค่จุดเล็กๆ เช่นจุดคัดกรองแต่คุณค่าของมันใหญ่มาก เรากำลังคัดกรองเชื้อไม่ให้แพร่กระจายมากขึ้น คุณค่าตรงนี้ทำให้เขาเห็นประโยชน์และภาคภูมิใจในตัวเอง

“มากกว่าเรื่องของรายได้ มากกว่าการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มากกว่าเรื่องของการได้รับการฝึกปลูกฝังการเป็นผู้ให้ คือการได้เป็นคนที่มีจิตใจอาสาช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม” คุณอติยา อาวัชณาการ ผู้บริหารด้านความยั่งยืน

ขบวนการลูกเป็ดนั้นกำเนิดขึ้นในช่วงโควิด-19 แม้ว่าโควิด-19 กำลังจะหายไปแต่ว่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของขบวนการเท่านั้นเพราะคุณค่าที่น้องได้รับนั้นสามารถต่อยอดได้อีกมากมาย รวมถึงโรงพยาบาลตามแผนกต่างๆ ได้มีการฝึก การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ต่อไป

ที่มา : รายการคนค้นฅน ตอน ขบวนการลูกเป็ด ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2565 เวลา 13:00 น. ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 

รับชมย้อนหลัง