เรื่องราวของ ผ ส า น
โครงการ "ผ ส า น" โดยโรงพยาบาลในเครือ Principal Healthcare
“ผ้านี้ไม่ใช่ผ้าธรรมดา เพราะผ้านี้ทำให้เราได้ ผ ส า น กัน”
01 มาลัยผ้าขาวม้า ผ ส า น รอยยิ้ม ชุมชนวัดห้วยรอบ ชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมและการสืบทอดที่ไม่มีวันตาย
“ลูกค้าได้ใส่ของมีคุณภาพ ชาวบ้านมีอาชีพ ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
หากพูดถึงผ้าขาวม้า สินค้าที่คนบางกลุ่มอาจจะมองว่าดูล้าหลัง ไม่ทันสมัย แต่จริงๆแล้ว ผ้าขาวม้านั้นสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย ไม่เพียงแค่นำไปนุ่งห่มเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปเป็นของขวัญ ของฝากที่ถักทอมาจากใจของชาวบ้านได้อีกด้วย นอกจากการสนับสนุนสินค้าที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นแล้วการทอผ้าไม่ใช่แค่สร้างอาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความสุขให้กับพวกเขา
“การทอผ้าช่วยให้เขามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น อยู่บ้านเหงา มาที่นี่ได้คุย ได้ออกกำลังกาย ได้ทอผ้า ขยับเขยื้อนมือแขนขา ไม่เครียด เพราะผู้สูงอายุที่นี่อยู่บ้านคนเดียว และสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ช่วยค่าใช้จ่าย บางเดือนได้หลายพันเกือบหมื่น บางเดือนไม่ได้เลยก็มี ก็เฉลี่ยกันไป” –ผู้นำกลุ่มชุมชนบ้านห้วยรอบ
“การทอผ้าไม่เพียงแต่สร้างรายได้เท่านั้นแต่ยังช่วยพัฒนาทักษะให้กับชาวบ้าน”
สมัยก่อนชาวบ้านจะทอผ้าแบบเดิม ๆ ลายเดิม ๆ ทำให้ฐานลูกค้านั้นมีเพียงกลุ่มเดียว ทำให้รายได้จากการขายผ้านั้นลดลง บางเดือนขายไม่ได้เลยก็มี การเข้ามาของอาจารย์วรรณา ได้เปลี่ยนการทอผ้าของชาวบ้านไปตลอดกาล
อาจารย์วรรณาได้นำเอาเรขาคณิตและโปรแกรมการสร้างเรขาคณิตเข้ามาเพื่อช่วยให้ชาวบ้านได้สร้างลายใหม่ๆ เสริมสร้างจินตนาการ และยังช่วยลดระยะเวลาในการทำลายผ้า ไม่เพียงเสริมสร้างทักษะการทอของชาวบ้านแต่ยังทำให้มีฐานลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“สมัยก่อนชาวบ้านได้ค่าแรงวันละ 100 บาท หากเราสามารถเพิ่มมูลค่าของผ้าได้ จะสามารถทำให้ชาวบ้านได้รายได้เพิ่มอย่างน้อยวันละ 300 บาท” — อาจารย์วรรณา ที่ปรึกษาด้านลายผ้าและอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์โรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม
“หากเราไม่เพิ่มมูลค่าให้กับผ้า รายได้ชาวบ้านก็จะอยู่แบบนี้ จะไม่มีคนรุ่นใหม่อยากที่จะเข้ามาศึกษาและสานต่อความรู้ แล้วองค์ความรู้ตรงนี้จะหายไป”
สิ่งที่อาจารย์วรรณาและประธานกลุ่มต้องการผลักดัน เพิ่มลายผ้าให้ทันสมัย ไม่ใช้เพียงต้องการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านเท่านั้น แต่ทุกคนยังต้องการให้การทอผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้นยังคงการสืบทอดต่อกันไปอีกหลายรุ่น
ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มบ้านห้วยรอบมีสมาชิกในกลุ่มเพียง 6 – 7 ท่าน เป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น มีอายุตั้งแต่ 54 – 84 ปี อยู่กันแบบครอบครัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ของดีประจำชุมชนบ้านห้วยรอบคือผ้าทอ ซึ่งเกิดจากการส่งต่อองค์ความรู้ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานทำให้ผ้าที่นี่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าคุณภาพจะดีจนมีชื่อเสียงจนได้รับรางวัลและกลายเป็นของดีขึ้นชื่อประจำจังหวัดอุทัยธานี แต่ราคาก็สามารถเข้าถึงได้ เพราะทางกลุ่มบ้านห้วยรอบต้องการให้ผู้รับ ได้รับของดีในราคาที่จับต้องได้ ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ว่า
“ลูกค้าได้ใส่ของมีคุณภาพ ชาวบ้านมีอาชีพ ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
ปัจจุบันรายได้ทั้งหมดที่ขายได้นั้นจะส่งตรงไปยังชาวบ้านโดยศูนย์จะเก็บแค่ค่าขึ้นเครือ 50 – 100 บาทเป็นค่าน้ำ ค่าไฟของศูนย์เท่านั้น แม้ว่า รายได้จะไม่ได้เยอะมากแต่ก็สามารถทำให้ชาวบ้านสามารถมีอาชีพ มีการส่งต่อวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน
พวงมาลัยผ้าขาวม้า ผ ส า น ที่กลั่นกรองมาจากใจของชุมชนบ้านห้วยรอบ”
ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าโดย ชุมชนวัดห้วยรอบ ที่ผสานแนวความคิดโดยการนำผ้าทอลายสวยผสานกับฝีมือช่างประดิดประดอยของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน จึงเกิดเป็น “พวงมาลัยผ้าขาวม้า ผ ส า น” ที่นำเสนอผ้าทอสีสันสวยงาม ในรูปลักษณ์ที่น่าประทับใจอย่าง “มาลัย” ซึ่งเป็นตัวแทนที่แสดงความรัก และความนับถือของคนไทย ถือเป็นความคิดสร้างสรรเพื่อสร้างมูลค่า ที่สร้างความประทับใจทั้งผู้ให้ และผู้รับอย่างแท้จริง

บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม หนึ่งในโครงการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในโครงการ SET Social Impact ร่วมกับ กลุ่มบริษัทพริ้นซิเพิล เฮลล์แคร์ และพริ้นซิเพิล แคปปิตอล บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกัน สร้างโอกาสและความหวัง ให้ชุมชนได้กลับขึ้นมามีรอยยิ้มอีกครั้ง เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยังคงอยู่ ส่งต่อคุณค่าจากชุมชน สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เกื้อกูลกันอย่างยั่งยืนต่อไป